รีวิวอนิเมะ : ซาโยอาสะ สัญญาของเราในวันนั้น (Maquia: When the Promised Flower Blooms)

รีวิว ซาโยอาสะ สัญญาของเราในวันนั้น
(Maquia: When the Promised Flower Blooms : さよならの朝に約束の花をかざろう)

ลืมไปหรือยังว่าเคยสัญญาอะไรกับใครไว้ เขาอาจจะรอเราทำตามสัญญา… ซาโยอาสะ สัญญาของเราในวันนั้น ภาพยนตร์อนิเมะ ดราม่าแฟนตาซี จากฝีมือการกำกับครั้งแรกของโอคาดะ มาริ (Okada Mari) นักเขียนบทภาพยนตร์อนิเมะชื่อดังที่ฝากผลงานไว้มากมาย รวมถึงภาพยนตร์ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเรา Sensei! (My Teacher : หัวใจฉันแอบรักเซนเซย์ / 2017) ถึงแม้ว่าจะเป็นการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรก แต่ก็การันตีฝีมือที่สั่งสมมานานในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์ด้วยรางวัล อนิเมะยอดเยี่ยม จากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้

ซาโยอาสะ เป็นเรื่องราวของ มาเคีย (Maquia) เด็กกำพร้าเผ่ายอร์ฟ (Iorph) หรือชนเผ่าแห่งการพลัดพราก ที่อยู่ไกลห่างไกลจากมนุษย์ ความพิเศษของเผ่านี้คือมีฝีมือในการทอผ้าอย่างหาตัวจับได้ยาก บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และอ่านความรู้สึกผ่านผ้าฮิบิโอล (Hibiol) และมีอายุยืนยาวมาก ขนาดที่ว่าหัวหน้าเผ่า อายุกว่า 400 ปียังดูเหมือนคนอายุไม่เกิน 30 ด้วยความพิเศษนี้จึงเป็นที่ถูกตาต้องใจของอาณาจักรเมซาเต้ (Mezarte) ในที่สุดเผ่าในตำนานอย่างยอร์ฟก็โดนโจมตี บ้างถูกลักพาตัว บ้างหายสาบสูญ กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง

มาเคียพลักพรากจากบ้านเกิด ระหกระเหินไปจนพบกับ แอเรียล ทารกน้อยกำพร้าพ่อแม่ ด้วยความรู้สึกบางอย่างทำให้มาเคียตัดสินใจรับทารกน้อยนั้นมาเป็นลูก เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อแอเรียลค่อย ๆ เติบโต ในขณะที่มาเคียยังคงความอ่อนเยาว์

✰ ต่อไปนี้จะเป็นการสปอยล์ ✰

ชนเผ่ายอร์ฟ หรือที่เรียกกันเองว่า ชนเผ่าแห่งการพลัดพราก ตัวหนังเล่าเรื่องว่า เมื่อเกิดความรู้สึก หรือความรักกับคนนอกเผ่า สุดท้ายมีแต่ตัวเองที่รู้สึกเจ็บปวดและต้องพลัดพรากจากคนที่รัก ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ต้องเป็นไป จึงทำให้ได้มองเห็นการเกิด แก่ และตายของคนที่รัก ในขณะที่ตัวเองยังคงอ่อนเยาว์เหมือนเดิม

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา และเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของแม่ลูก ผู้กำกับพยายามจูงคนดูไปสู่ “แม่ในโลกอุดมคติ” การดูแลและปกป้องลูกให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแม่แท้ ๆ ของแอเรียลที่ถึงตัวตายก็ยังกอดลูกเอาไว้ในอ้อมอก มาเคีย ที่เก็บแอเรียลมาเลี้ยง ซึ่งหลายคนอาจจะไม่อิน เพราะตามเรื่องมีอายุเพียง 15 ปี ดูเด็กเกินไปกับคำว่าแม่ แต่เรื่องนี้ได้มองข้ามจุดนี้ไปโดยเติมจิตวิญญาณแห่งความเป็นแม่ให้มาเคียทำทุกอย่างเพื่อให้แอเรียลได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสง่างาม

สำหรับฮิบิโอล ที่ต้องได้ยินบ่อย ๆ ในเรื่องนั่นคือ ศิลปะการทอผ้าจากชนเผ่ายอร์ฟ ที่ทอผ้าเพื่อบันทึกเรื่องราวในแต่ละวัน บันทึกสาร ข้อความ รวมไปจนถึงความรู้สึกลงไปในผืนผ้านั้น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะการทอผ้าของของหมู่บ้านนันโตะ จังหวัดโทยะมะ ประเทศญี่ปุ่น

หากเพ่งความสนใจไปที่มาเคีย เราคงไม่เห็นพัฒนาการของเนื้อเรื่อง เพราะมาเคียหน้าตาเหมือนเดิม หากมองไปที่ตัวละครอื่น ๆ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ไม่อาจต้านทานกาลเวลาได้ คำพูด วิธีคิดของตัวละคร และความสำคัญของสัญญา บางครั้งการปกป้องใครสักคนอาจจะไม่ใช่การที่เก็บเขาไว้ให้อยู่กับตัวเอง กว่า 2 ชั่วโมง เรื่องที่ยืดบ้าง เดินเรื่องเร็วบ้าง และกระโดดไปกระโดดมาในบางจุด ถูกกลบไปด้วยความรู้สึกเต็มตื้นที่ผู้กำกับขยี้คนดูตั้งแต่ไคลแม็กซ์ไปจนกระทั่งเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ปล่อยในช่วง End Credit

อีกประเด็นที่ผู้กำกับใส่มาแบบบางเบา คือเรื่องการสงคราม การที่อยากได้ของ ๆ ผู้อื่น การเจรจาแบบสันติวิธีน่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่ดีกว่าการลักพาตัว เข่นฆ่า และทำสงครามกัน เพราะในหน้าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีผู้ชนะจากสงคราม มีแต่คนแพ้

เข้าไปในโรงภาพยนตร์อย่างไม่คาดหวังใด ๆ แต่ออกมาทั้งน้ำตาด้วยความรู้สึกอยากกำดอกมะลิมอบให้คุณแม่ที่บ้านทันที โดยไม่ต้องรอวันแม่
อีกหนึ่งภาพยนตร์ดี ๆ นอกสายตา ไม่อยากให้เพื่อน ๆ พลาดเลยค่ะ

FOLLOW US ON
FACEBOOK
TAGS