สำรวจแง่มุมความรักหลากรูปแบบผ่านผลงานของ 3 นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่น

วัฒนธรรม แนวคิด และวิถีชีวิตในแบบญี่ปุ่นนั้นถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ มากมายหลายรูปแบบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน ละคร รายการโทรทัศน์ ไปจนถึงภาพยนตร์ จนทำให้หลายคนเริ่มรู้จักและเข้าใจแง่มุมของความเป็นญี่ปุ่น และก่อให้เกิดกระแสที่เรียกว่า Japanization หรือกระแสญี่ปุ่นนิยมขึ้นตั้งแต่ในยุค 70 ที่ทั้งอาหาร วัฒนธรรม และเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นได้แผ่ขยายจนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

นอกเหนือจากสื่อเหล่านี้ วรรณกรรมญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วยเช่นกัน และเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักอ่านว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยนักเขียนชั้นเยี่ยม และมีงานเขียนชั้นดีมากมายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะพาไปสำรวจแง่มุมเล็กๆ ของโลกวรรณกรรมญี่ปุ่น ในด้านมุมมอง ความหมาย และคำนิยามของสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” ในแบบฉบับญี่ปุ่น ผ่านปลายปากกาของนักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่น 3 คนที่มีชื่อเสียงในระดับสากล

 

1. รักอันอบอุ่นของโยชิโมโตะ บานาน่า

โยชิโมโตะ บานาน่า (Yoshimoto Banana) เป็นนามปากกาของโยชิโมโตะ มาโฮโกะ นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในระดับสากล เธอได้รับรางวัลสำคัญทางวรรณกรรมมากมายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ และงานเขียนของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่าสามสิบภาษาทั่วโลก โดยนวนิยายที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือ “คิทเช่น” ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นแรกของเธอในฐานะนักเขียนมืออาชีพ

“คิทเช่น” และงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของเธอ มักจะใช้ตัวละครเอกเป็นหญิงสาววัยรุ่นที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความเศร้า หรือกำลังเผชิญความสับสนบางอย่างในชีวิต ดำเนินชีวิตในแต่ละวันไปอย่างเชื่องช้า เรียบง่าย จนกระทั่งได้พบกับใครคนหนึ่งเข้า และความสัมพันธ์อันแสนอบอุ่นค่อยๆ ก่อตัวขึ้นภายในจิตใจ เรื่องราวความรักในงานเขียนของบานาน่านั้นไม่ได้เป็นความรักอันแสนโรแมนติกเหมือนนิยายรักเรื่องอื่นๆ แต่สไตล์งานเขียนของเธอมักจะใช้การอธิบายถึงธรรมชาติและบรรยากาศโดยรอบอย่างงดงาม ผสมผสานกับการกระทำต่างๆ ที่แสนเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน และคำพูดสั้นๆ เพียงไม่กี่ประโยค ที่แสดงถึงความรู้สึกของตัวละครออกมาอย่างชัดเจน จนความรู้สึกอบอุ่นที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังแผ่ขยายเข้ามาสู่จิตใจและความรู้สึกของคนอ่านอย่างชัดเจน

หนังสือของโยชิโมโตะ บานาน่า ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอยู่เรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน ตั้งแต่เรื่อง “คิทเช่น” “หลับ” “ปีกนางฟ้า” และ “ลาก่อนท์ซึกุมิ” ที่ตีพิมพ์โดยสนพ. JBOOK ตามด้วย “หญิงสาวผู้หวาดกลัวความสุข” โดยสนพ.ไต้ฝุ่น และเล่มล่าสุดคือ “ทะเลสาบ” โดยสนพ. Earnest

 

2. รักไม่เรียบของฮิโรมิ คาวาคามิ

ฮิโรมิ คาวาคามิ (Hiromi Kawakami) เริ่มทำงานในนิตยสารวรรณกรรม ก่อนจะผันตัวมาเป็นครูวิชาชีววิทยาระดับมัธยมปลาย และสุดท้ายก็เลือกทำงานเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว เธอเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัล “อาคุตะงะวะ” ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลสูงสุดทางด้านวรรณกรรมในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงรางวัลสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย และงานเขียนบางชิ้นของเธอยังได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์อีกด้วย

งานเขียนของเธอมักจะบอกเล่าเรื่องราวความรักที่มีอุปสรรคหรือปัญหาบางอย่าง ทั้งในงานเขียนชิ้นเด่นๆ ของเธออย่าง “Briefcase” นวนิยายที่เล่าเรื่องราวความรักต่างวัยระหว่างหญิงสาวและชายสูงวัยที่เคยเป็นอาจารย์ของเธอมาก่อน รวมถึงงานเขียนที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านชาวไทยอย่าง “ความไม่เรียบของความรัก” ที่เป็นผลงานรวมเรื่องสั้น 23 เรื่อง เล่าเรื่องราวอุปสรรค ความผิดหวัง และความโศกเศร้าจากความรัก ทุกเรื่องนั้นไม่ได้ทำให้เราจมดิ่งไปกับความเศร้าของตัวละคร แต่กลับสร้างแง่มุมที่ชวนให้อมยิ้ม และมอบความรู้สึกที่ผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าต่อไป

หนังสือของฮิโรมิ คาวาคามิ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในปัจจุบันคือ “ความไม่เรียบของความรัก” โดยสนพ. Sunday Afternoon ซึ่งแปลโดยตรงจากหนังสือต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “Zarazara” เป็นการรวมเล่มจากการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร Ku:nel ระหว่างปีค.ศ. 2002-2006

 

3. รักเป็นประกายของเอคุนิ คาโอริ

     เอคุนิ คาโอริ (Ekuni Kaori) เป็นนักเขียนชาวโตเกียวที่เริ่มต้นทำงานเขียนด้วยรูปแบบนิทาน นวนิยายเชิงตำนานญี่ปุ่น และวรรณกรรมเยาวชน โดยที่เธอเริ่มกวาดรางวัลทางวรรณกรรมมากมายมานับตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนที่จะหันมาเริ่มเขียนนวนิยายเต็มรูปแบบอย่างจริงจัง ซึ่งนวนิยายของเธอนั้นล้วนแต่ติดอันดับขายดี และถูกนำไปสร้างเป็นละครหรือาภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น

งานเขียนที่เล่าถึงความรักอันเป็นเอกลักษณ์ของเอคุนิ คาโอริ และยังถือเป็นงานเขียนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ ก็คือ “เป็นประกาย” ที่ไม่ได้เล่าเรื่องความรักระหว่างชายหญิงในแบบทั่วไป แต่เป็นความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานที่ฝ่ายหญิงเป็นคนติดเหล้า อารมณ์ไม่มั่นคง และฝ่ายชายที่เป็นเกย์ และมีอาชีพเป็นหมอ ทั้งสองคนแต่งงานกันเพราะแรงกดดันจากครอบครัว แต่แทนที่ทั้งสองคนจะเข้ากันไม่ได้ กลับถูกเติมเต็มกันและกันในนิยามที่แตกต่างออกไปจากคู่แต่งงานและคู่รักตามปกติ และยังใช้วิธีการเล่าเรื่องที่สลับไปมาระหว่างทั้งสองคน เพื่อให้คนอ่านเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของตัวละครแต่ละฝ่ายได้อย่างชัดเจน

หนังสือของเอคุนิ คาโอริ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในปัจจุบันคือ “เป็นประกาย” “พร้อมแล้วที่จะร้องไห้” “ค่ำคืนนี้” “ร้อนแรง” และ “หล่น” โดยสนพ. JBOOK

 

แหล่งช้อมูลอ้างอิง : japantimes,  theguardianindependent

FOLLOW US ON
FACEBOOK