ตามรอยซีรีส์ “Good Doctor” ทำความรู้จัก “ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์” สำหรับคุณแม่ที่ไม่พร้อมเลี้ยงเด็ก ในประเทศญี่ปุ่นแบบเข้าใจง่าย

เพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินชื่อระบบนี้กันมาบ้างจากในซีรีส์ Good doctor ในตอนที่ 2 ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์หรือในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 養育里親制度 (youiku satooya seido) เป็นระบบที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์นี้โดยคร่าว

ที่ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ให้กำเนิดบุตรที่ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้เองถึง 46,000 คน 85% จากจำนวนดังกล่าวอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูและดูแลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นต้น แต่ "ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์" นั้นต่างจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยสิ้นเชิง "ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์" เป็นระบบที่ให้ผู้ดูแลมีสิทธิในการดูแล เลี้ยงดูเด็กที่ผู้ให้กำเนิดไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้ในเวลาดังกล่าวตลอดระยะเวลา แต่ห้ามเกินอายุ 18 ปี (ของเด็ก) โดยครอบครัวหรือผู้อุปถัมภ์ที่รับเลี้ยงเด็กจะได้รับเงินค่าเลี้ยงดูจากรัฐบาลเดือนละ 86,000 เยน/ เดือน หรือประมาณ 25,904 บาท  "ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์" แตกต่างจากการรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตรงที่ผู้ที่รับเลี้ยงจะไม่มีความเกี่ยวข้องหรือสิทธิ์ในการเลี้ยงดูหรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แทนเด็ก ไม่มีสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของเด็กเหมือนกับการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเป็นต้น

 

อธิบายความแตกต่างเบื้องต้นระหว่างการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมกับระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์
การรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศญี่ปุ่นมีอยู่ 2 แบบ คือการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแบบทั่วไป และการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแบบพิเศษ

การรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแบบทั่วไป ผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิในการตัดสินใจและสิทธิในตัวเด็กเช่นเดียวกับผู้ปกครองผู้ให้กำเนิดเด็ก
แต่การรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแบบพิเศษผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิในตัวเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดไม่มีสิทธิใดๆ ในตัวเด็กและต้องรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีมาเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากการรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแบบทั่วไปที่สามารถรับเลี้ยงได้ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไรก็ตาม

ระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์
แม้ผู้รับเลี้ยงจะเป็นผู้ดูแลเด็กแต่ไม่มีสิทธิใดๆ ในการตัดสินใจแทนเด็กทั้งสิ้น เพราะสิทธิในการเป็นผู้ปกครองขั้นพื้นฐานโดยทั่วไปยังคงเป็นของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเด็กอยู่ และระยะเวลาในการรับเลี้ยงเด็กของระบบผู้ปกครองอุปถัมภ์จะมีระยะเวลาได้มากสูงสุดแค่เด็กอายุครบ 18 ปี เท่านั้น หากมากกว่านั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้ปกครองอุปถัมภ์ตามกฎหมาย ภายหลังจากเด็กอายุครบ 18 ปี เด็กมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดหรือจะออกไปใช้ชีวิตเองตามลำพังโดยไม่มีข้อผูกมัดใด ครอบครัวผู้อุปถัมภ์ที่รับเลี้ยงดูเด็กจะได้รับเงินค่าเลี้ยงดูจากรัฐบาลเดือนละ 86,000 เยน/ เดือน หรือประมาณ 25,904 บาท  ซึ่งจะแตกต่างจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนใดจากรัฐบาล

 

แหล่งที่มาข้อมูล : nippon-foundation

FOLLOW US ON
FACEBOOK