วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดป่วยฉุกเฉินที่แดนปลาดิบ

ช่วงเวลาที่เดินทางท่องเที่ยวนั้นคงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยขึ้นมา แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรเตรียมรับมือไว้บ้างเผื่อในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริง ๆ WOM JAPAN ได้รวบรวมวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดป่วยฉุกเฉินที่แดนปลาดิบมาไว้ให้แล้วในบทความนี้

1. รายชื่อโรงพยาบาล

รายชื่อโรงพยาบาลทั้งหมดของญี่ปุ่นถูกรวบรวมไว้ที่เว็บไซต์ https://www.jnto.go.jp/emergency/eng/mi_guide.html#search คุณสามารถค้นหารายชื่อโรงพยาบาลได้จากบริเวณที่คุณพัก ภาษาที่คุณต้องการสื่อสาร รูปแบบการจ่ายเงินที่คุณต้องการ หรือแผนกเฉพาะที่คุณกำลังมองหา

2. ประวัติการรักษาฉบับภาษาอังกฤษ

นำข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการรักษาที่มีพกติดตัวไปด้วย

* ข้อมูลสำคัญที่ควรมีเป็นภาษาอังกฤษ *
- ชื่อนามสกุล
- กรุ๊ปเลือด
- การรักษาที่ผ่านมา
- ยาที่ใช้ประจำ
- อาการแพ้
- ชื่อและเบอร์โทรของผู้ที่สามารถติดต่อได้เกิดเหตุฉุกเฉิน

3. ใบสั่งยาและร้านขายยา

ถ้าคุณไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ คุณสามารถซื้อยาได้เลยหลังจากที่ได้ใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ถ้าคุณต้องไปหาซื้อยาเองที่ร้านด้านนอก เราแนะนำให้ถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของทางโรงพยาบาลก่อนว่าร้านยาที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่เราเชื่อว่าเขาจะสามารถหาแผนที่ให้คุณได้อย่างแน่นอน

แต่ถ้าคุณอยู่ในย่านท่องเที่ยว Matsumoto Kiyoshi คือร้านขายยาขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น มีสาขาจำนวนมาก และแน่นอนว่าพนักงานของที่นี่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้

ถ้าเป็นยาสามัญทั่ว ๆ ไปหรือยาตามใบสั่งของแพทย์ คุณสามารถหาซื้อได้ที่ร้านนี้ แต่ถ้าเป็นยาที่เฉพาะเจาะจงหรือยาที่คุณทานอยู่เป็นประจำ เราแนะนำให้คุณเตรียมมาด้วย เพราะอาจจะหาซื้อไม่ได้

การนำยาเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแค่คุณนำฉลากและบรรจุภัณฑ์ติดมากับตัวยา และเพื่อความชัวร์คุณควรมีใบรับรองแพทย์ภาษาอังกฤษติดมาด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจเช็คได้ง่ายขึ้นโดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาอธิบายหรือชี้แจงอะไรให้มากความ

 

4. ประกันสุขภาพ

คงเดากันไม่ยากหากว่าคุณเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแบบไม่มีประกัน กระเป๋าเงินของคุณจะเดือดร้อนขนาดไหน วิธีการที่จะปกป้องกระเป๋าเงินของคุณได้ดีที่สุดก็คือการทำประกันสุขภาพ คุณสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ที่ประเทศไทย

บริษัทประกันที่นักท่องเที่ยวนิยม

- Tokio Marine & Nichido Fire Insurance Co., Ltd.
เบี้ยประกัน 760 เยนหรือประมาณ 228 บาทต่อวัน และแบบ 3,610 เยนหรือประมาณ 1,083 บาทสำหรับ 10 วัน

- Sompo Japan Nipponkoa
เบี้ยประกัน 2,900 เยนหรือประมาณ 870 บาท สำหรับ 10 วัน

ราคาค่ารักษาพยาบาลโดยประมาณ
- ตรวจรักษาเบื้องต้นประมาณ 3,000 เยนหรือ 900 บาท
- ตรวจเลือดประมาณ 6,000 เยนหรือ 1,800 บาท
- X-ray ประมาณ 2,000 เยน หรือ 600 บาท
- Abdominal CT 15,000 เยนหรือ 4,500 บาท
- ผ่าตัดประมาณ 5,500 - 20,000 เยนหรือ 1,650- 6,000 บาท

 

5. รถฉุกเฉิน

ถ้าอาการป่วยของคุณรุนแรงจนไม่สามารถที่จะพาตัวเองไปถึงโรงพยาบาลได้ให้โทรไปที่เบอร์ 119

สิ่งที่ต้องทำเมื่อหลังจากโทรเรียกรถฉุกเฉิน
1. แจ้งปลายสายว่า “Medical Emergency” สามารถพูดเป็นภาษาอังกฤษได้เลย
2. แจ้งให้ปลายสายทราบว่าคุณอยู่ที่ไหน มีอาการอย่างไร มีอาการตั้งแต่เมื่อไหร่ และอยู่กับใคร
3. แจ้งชื่อและอายุของคุณพร้อมเบอร์ติดต่อกลับ

ประโยคภาษาญี่ปุ่นที่คุณจำเป็นต้องรู้ในกรณีที่ต้องการคุณไม่สามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ด้วยตัวเอง “Kyu-kyu-sha o onegai shimasu แปลว่า ฉันต้องการรถฉุกเฉิน”

ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะการเรียกรถฉุกเฉินไม่ต้องเสียเงิน คุณจะเสียเงินก็ต่อเมื่อคุณเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเท่านั้น

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เมื่อเกิดอาการป่วยขณะท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น นอกจากสติแล้วก็คือสตางค์ หากคุณไม่อยากมาเครียดเรื่องเงินค่ารักษาในภายหลัง เราแนะนำให้ทำประกันไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุฉุกเฉินจะดีกว่า

 

แหล่งที่มาเรื่องและภาพ : livejapan

FOLLOW US ON
FACEBOOK